พระอุโบสถวิหาร พระเจดีย์ในสยาม ลวดลายจิตรกรรม เครื่องปั้นดินเผา คน บ้าน เมือง กระดานชนวน


คลิกที่กระดานชนวนเพื่อแสดงความคิดเห็นของท่านได้เลยครับ

ภายหลังจาก สุรชัย จงจิตงาม ได้นำพา "โครงการย้อนรอยจิตรกรรมวัดอุโมงค์" สู่ชัยชนะอันดับหนึ่งของ "โครงการร่วมใจพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมไทย ครั้งที่ 3 ประจำปี 2545" ซึ่งเป็นโครงการประกวดประชันโครงงานที่ถูกจัดขึ้นโดย ฟอร์ด มอเตอร์ คอมพานี จนกระทั่งได้รับทุนสนับสนุนเป็นเงินจำนวนสามแสนห้าหมื่นบาท เพื่อใช้ในการศึกษาลักษณะภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัด เวฬุกัฏฐาราม หรือ วัดอุโมงค์ ซึ่งตั้งอยู่ภายในอำเภอเมือง ของจังหวัดเชียงใหม่ ถึงวันนี้ผลงานการศึกษาของโครงการดังกล่าวได้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยสื่อหลากหลายรูปแบบ อันเป็นมิติหนึ่งที่งานวิชาการอนุรักษ์ของประเทศไทย ยังไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน

คุณค่าของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ อยู่ที่การทำหน้าที่เป็นร่องรอยมรดกจิตรกรรมล้านนาเพียงแห่งเดียวที่มีอายุตกทอดมานานถึงห้าร้อยปี ซึ่งถือว่าเก่าแก่ที่สุดในช่วงสมัยของราชวงศ์มังราย อีกทั้งเป็นข้อยืนยันว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังในล้านนานั้น ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจิตรกรรมลายจีน ซึ่งแพร่กระจายผ่านเข้ามาโดยเครื่องถ้วยเคลือบสมัยปลายราชวงศ์หมิง-ต้นราชวงศ์หยวน ที่ขุดค้นพบอย่างมากมายภายในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

แต่ดั้งเดิมสภาพจิตรกรรมภายในอุโมงค์ดังกล่าวได้ลบเลือนจนแทบจะมองเป็นรูปร่างไม่ได้ ด้วยการถูกทอดทิ้งให้ผ่านกาลเวลาอันยาวนาน จนกระทั่งเกิดชั้นหินปูนเคลือบผิวภาพจิตรกรรมจนฝ้าเลือน กรมศิลปากรได้เข้าทำการบูรณะด้วยการใช้น้ำยาเคมีเพื่อเปิดชั้นหินปูนอยู่ระยะหนึ่ง และ สุรชัย จงจิตงาม หรือ "กุ๋งกิ๋ง" ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมกับกระบวนการทำงานดังกล่าว หลังจากได้ทำงานลอกลายภาพจิตรกรรมบนเพดานโค้งภายในอุโมงค์แห่งนี้มานานแล้ว

ชายหนุ่มผู้นี้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเข้าทำการศึกษาแบบแผนทางจิตรกรรมภายในวัดอุโมงค์อย่างจริงจัง ท่ามกลางกระแสความคิดเห็นในแนวทางคัดค้านจากหลายฝ่าย ด้วยสภาพของภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์นั้นลบเลือนไปมากเสียจนไม่น่าจะทำการศึกษาได้อย่างแน่ชัด แต่วันนี้ สุรชัย จงจิตงาม สามารถทำให้ความคิดของเขาเป็นจริงขึ้นมาได้ ด้วยเทคนิคการคัดลอกลาย ด้วยการใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญ และด้วยผลจากการศึกษาค้นคว้านี้เอง ทำให้เขากล้าประกาศออกมาว่าผลงานจากการทุ่มเททำการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดอุโมงค์ของตัวเอง มีความถูกต้องใกล้เคียงความจริงถึง 90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

แต่กว่าจะมาถึงวันที่ทุกฝ่ายต่างให้การยอมรับ เส้นทางเดินของ สุรชัย ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครต่อใครก็สามารถทำได้...

"สมัยก่อนผมจะไปลอกลายภาพจิตรกรรมที่วัดอุโมงค์ ต้องเดินจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีรถ เดินจนรู้ว่าต้องใช้เส้นทางไหน เพราะถนนแถวนี้ไม่ใช่ถนนที่สร้างมาสำหรับการเดินในชีวิตประจำวัน"

นับตั้งแต่ปี 2538 ที่สุรชัยเฝ้าเพียรพยายามคัดลอกลายภาพจิตรกรรมเท่าที่หลงเหลืออยู่ โดยได้รับทุนบางส่วนจากภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งได้ร่วมงานกับเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรในภายหลัง ซึ่งทำการบูรณะภาพเขียนโดยใช้เทคนิคกรรมวิธีทางสารเคมี เพื่อเปิดชั้นหินปูนซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะความชื้นของอากาศที่ผ่านการสะสมด้วยเวลานานกว่าหลายร้อยปี

โครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์ถือกำเนิดขึ้นหลังจากชายหนุ่มวัย 32 ปีผู้นี้ ผ่านการร่วมงานกับกรมศิลปากรมาแล้ว ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมทำงานครั้งนั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน กระบวนการทำงานอันมีจุดอ่อนของกรมศิลปากร ก็ถูกเขาตั้งข้อสังเกตอย่างน่าคิดทีเดียว

"คุณจะเห็นว่าภาพบางส่วนภายในอุโมงค์มันหายไป ซึ่งตรงนี้เป็นเพราะว่าเจ้าหน้าที่ของกรมศิลป์ไม่ประสานงานกับช่างที่ถูกว่าจ้างให้เข้ามาทำการปรับสภาพอุโมงค์ภายใน ส่งผลให้เนื้อปูนกลับไปบดบังบริเวณอุโมงค์ที่มีร่องรอยของภาพเขียนมาแต่เดิม"

ภายหลังจากเกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับโครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์แล้ว ชายหนุ่มผู้นี้จึงเริ่มกระบวนการการทำงานตามโครงการที่มีอยู่ในสมองด้วยตัวคนเดียว

"ตอนนั้นผมทำอยู่คนเดียว ยังไม่มีใครเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง มีรุ่นน้องรู้กันบ้างว่าผมกำลังทำอะไร เพราะเวลาเขียนลายสันนิษฐานเพิ่มเติม ผมจะต้องลงมาใช้สถานที่ของห้องอาหารด้านล่าง เพราะว่าพื้นที่ภายในห้องค่อนข้างจะแคบ"

สุรชัยเฝ้าเพียรพยายามลอกลายภาพเขียนที่หลงเหลืออยู่น้อยยิ่งกว่าน้อย ด้วยการเดินไปทำงานทุกวัน โดยพร้อมกันนั้นเขาได้ทำการศึกษาเพื่อวิเคราะห์แบบแผนของลวดลายไปพร้อม ๆ กันด้วย

"การลอกลายในขนาดเท่าจริงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะเหมือนเราได้ทำความคุ้นเคยกับมันไปด้วย ผลจากการลอกลายทำให้ผมสามารถสันนิษฐานแบบแผนทางการเขียนของภาพจิตรกรรมได้ง่ายขึ้น"

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลก หากเอกชนบุคคลหนึ่งจะเข้ามาจับงานอันเป็นศิลปะของชาติ แล้วจะถูกตั้งคำถามในเชิงอคติจากหลายฝ่าย

"ช่วงแรกไม่มีใครยอมรับลายเส้นสองมิติที่ผมสันนิษฐานขึ้นมา มีคนถามว่าคุณจะสันนิษฐานได้อย่างไร ในเมื่อสภาพจริงมันชำรุดจนแทบมองอะไรไม่เห็นอยู่แล้ว"

สุรชัยใช้วิธีศึกษาจากลวดลายที่หลงเหลือ ซึ่งโดยมากจะเป็นส่วนของลายบัวหลายสิบหลายร้อยดอก กับสะเก็ดสีเพียงน้อยนิดที่หลงเหลืออยู่เพียงจาง ๆ โดยเฉพาะในอุโมงค์ส่วนที่สอง ที่เขาบอกว่าเป็นอุโมงค์ส่วนที่สามารถศึกษาวิเคราะห์ได้ง่ายที่สุด

วิธีการสังเกตรายละเอียดซุกซ่อนที่ยังหลงเหลืออยู่บนงานภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีสภาพลบเลือนนี้ เขาบอกว่าตัวเองเกิดแรงบันดาลใจมาจากช่วงประสบการณ์ชีวิตที่ได้ติดตามเป็นลูกศิษย์ศึกษางานจิตรกรรมไทประเพณีกับ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์คนแรกของประเทศไทย ซึ่งในวงการศิลปะและการอนุรักษ์ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกทำงานด้านการอนุรักษ์ และคัดลอกจิตรกรรมฝาผนังคนแรกของประเทศไทยมายาวนานกว่า 40 ปี จนกระทั่งได้รับรางวัลแมกไซไซจากการอนุรักษ์ศิลปกรรม (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว)

ซึ่งตัวเขาเองเป็นลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายของอาจารย์เฟื้อที่ได้ศึกษาภาพจิตรกรรมไทยกับท่าน และเคยติดตามอาจารย์ไปชมจิตรกรรมฝาผนังโบราณหลายแห่ง

"อาจารย์มักจะชี้ให้เห็นว่าภาพจิตรกรรมของจริงที่ผนังในสถานที่จริงนั้นมีคุณค่าที่งดงามอย่างไร ทั้งๆที่หลายแห่งภาพที่อาจารย์ชี้ให้ดูมักจะชำรุดลบเลือนมาก แต่หากค่อย ๆ สังเกตก็จะพบความงามประณีตซ่อนอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ถูกปลูกฝังอยู่ในใจมานานมากแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสมาทำงานอย่างที่ชอบก็ในโครงงานวัดอุโมงค์นี่แหละครับ"

ภายหลังจากได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท ฟอร์ด เซลล์ ประเทศไทย สุรชัยเลือกจะใช้เทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟิกเข้ามาช่วยในกระบวนการศึกษาของเขา เนื่องจากสภาพด้านบนของอุโมงค์มีลักษณะโค้งและด้วยความคับแคบของพื้นที่อีกประการหนึ่ง ทำให้การมองสภาพโดยรวมของภาพจิตรกรรมกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นภาพถ่ายหลายสิบหลายร้อยภาพจึงถูกประกอบเข้าด้วยกันในโปรแกรมโฟโตช็อป จนได้ภาพรวมในแนวระนาบของพื้นที่จิตรกรรมทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้สามารถวิเคราะห์ออกมาเป็นภาพลายเส้นสองมิติได้ง่ายขึ้น

"ตรงนี้ผมเชื่อว่างานโบราณคดีในเมืองไทย ยังไม่ค่อยมีใครทำกัน" สุรชัยเปิดเผยความคิดของตนเอง "คอมพิวเตอร์สามารถตกแต่งภาพให้ชัดขึ้นได้ ทำให้เห็นลวดลายชัดเจนขึ้น รวมทั้งการวาดลวดลายสันนิษฐานเพิ่มเติม ก็สามารถเขียนเพิ่มหรือแก้ไขได้สะดวกกว่ากัน"

ภาพลายเส้นสองมิติสันนิษฐานที่วิเคราะห์มาได้ และถูกวาดขึ้นด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพสามมิติ ด้วยโปรแกรม 3DMAX จนเกิดกลายเป็นภาพเสมือนจริงราวกับผู้ชมกำลังก้าวเท้าเดินอยู่ภายในพื้นที่อุโมงค์ในช่วงสมัยเมื่อห้าร้อยปีก่อน ภาพจิตรกรรมสีแดงสลับเขียวของจิตรกรรมภายในอุโมงค์ส่วนที่สองภายใต้แสงเงาจากแรงเทียน นับเป็นความตื่นตาตื่นใจที่สามารถนำมาใช้ "สื่อสาร" กับผู้คนโดยทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้งานโบราณคดีในแบบของ สุรชัย จงจิตงาม ดูทันสมัย น่าสนใจ และยังสามารถ "เข้าถึง" ได้อย่างง่าย ๆ

นอกจากนี้ เทคนิคการประชาสัมพันธ์ยังถูกนำมาใช้เพื่อเปิดเผยองค์ความรู้ที่ได้จากกระบวนการศึกษาอันยาวนานของเขาสู่สาธารณชน ด้วยความพยายามจะทำให้ให้ความรู้เชิงวิชาการเหล่านั้นถูกนำเสนอออกมาอย่างเข้าใจง่ายและสั้นกระชับ ในรูปแบบของวารสาร "น้ำแต้ม" ซึ่งทางโครงการตั้งใจจะจัดทำให้ครบ 6 ฉบับด้วยกัน

"ผมกลัวว่างานวิชาการที่ผมเขียนจะถูกเอาไปเก็บไว้ในห้องสมุด คนทั่วไปจะไม่มีโอกาสได้รู้ว่าภายในวัดอุโมงค์มีภาพเขียนที่มีอายุยาวนานถึงห้าร้อยปี ผมคิดว่าการผลิตวารสารหรือการเผยแพร่ความรู้ด้วยภาพยนตร์สารคดีความยาวสิบสองนาที ซึ่งบันทึกลงในรูปแบบของวีซีดี จะทำให้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาถูกเปิดเผยออกไปในวงกว้าง โดยไม่ต้องเข้าไปอ่านงานวิชาการที่ค่อนข้างจะทำความเข้าใจได้ยาก"

แม้ว่าวันนี้ งานของสุรชัยจะรุดหน้าไปมาก อีกทั้งยังได้รับการยอมรับในผลงานการศึกษาที่สามารถแสดงออกมาอย่างเป็น "รูปธรรม" แต่เขายืนยันว่างานชิ้นนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

"ความฝันของผมก็คือ อยากคัดลอกลายภาพจิตรกรรมให้ครบทุกอุโมงค์ อยากจะทำภาพเคลื่อนไหวสามมิติในส่วนของอุโมงค์นกให้สำเร็จ หลังจากนั้นหากจะมีการบูรณะภาพเขียนจริงภายในอุโมงค์ ก็มีทางออกมากมายว่าจะจัดการบูรณะกันอย่างไร"

นอกจากความสำเร็จของโครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์จะส่งผลต่อการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลความรู้ทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ ด้วยกรรมวิธีใหม่ ๆ แล้ว โครงการนี้ยังบอกเล่าถึงความเพียรพยายามของผู้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ สุรชัย จงจิตงาม อีกด้วย และบางทีอาจตอบคำถามได้ว่า อนาคตอันเลือนลางของภาพจิตรกรรมไทยนับร้อยแห่งที่ถูกปล่อยทิ้งเอาไว้ตามยถากรรม อาจกำลังรอคอยพระเอกคนอื่น ๆ เข้ามาช่วยปลุกให้ฟื้นตื่นจากห้วงเวลา "หลายร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว" กันเสียที

"งานของผมต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าตอนนี้เงินทุนใกล้จะหมดลงแล้วก็ตาม เพราะเมื่อเทียบกับสมัยต้องเดินไปลอกลายภาพเขียนทุกวัน หรือตอนที่ยังไม่มีใครยอมรับในผลงาน มันไม่มีอะไรจะแย่ไปกว่านั้นอีกแล้ว"

สุรชัย หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกกันเล่น ๆ ว่า "พี่กิ๋ง" บอกเล่าเป็นประโยคสุดท้ายพร้อมทั้งระบายรอยยิ้มอารมณ์ดีของเขา ในขณะที่หญิงสาวคนหนึ่งกำลังเดินตรงเข้ามาเพื่อบอกเราว่า ร้านกาแฟเล็ก ๆ แห่งนี้กำลังจะปิดตัวเองลงแล้ว...

หมายเหตุ : ผู้สนใจให้การสนับสนุนโครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์ ซึ่งเป็นโครงการศึกษาภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนา ซึ่งมีอายุยาวนานกว่าห้าร้อยปี อันเป็นสมบัติล้ำค่าของชนชาติไทย สามารถเข้าไปเยี่ยมชมและติดต่อผู้รับผิดชอบโครงการได้ทาง

www.umongpainting.com

หรือ ตู้ ปณ. 57 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50202 ทางโครงการยินดีรับฟังข้อเสนอแนะจากท่านที่มีความสนใจในโครงการดังกล่าว

กษัตริย์ผู้ครองเมืองเชียงใหม่โปรดให้สร้างอุโมงค์แห่งนี้ขึ้นมา เพื่อพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีสติไม่ครบถ้วนในบางเวลา จะได้เดินจงกรม ท่องบ่นพระธรรมบทพระธรรมวินัยได้ในเวลาค่ำคืน ป้องกันไม่ให้พระสงฆ์รูปนั้นหนีไปปลีกวิเวกในป่า !

เถรจันทร์คือภิกษุรูปนั้น แต่เดิมท่านมีสติปัญญเฉียบแหลม ทว่าวันหนึ่งได้รับพรจากนางฟ้า เมื่อท่านยื่นมือไปรับหมากวิเศษคำนั้น มือของท่านกลับรวบโดนนิ้วก้อยของผู้ประทานพร นางฟ้าจึงสาปให้ท่านกลายเป็นภิกษุวิปลาสในบางเวลา !

รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล
สัมภาษณ์ สุรชัย จงจิตงาม ผู้รับผิดชอบโครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์ เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘
รายละเอียดเกี่ยวกับภาพประกอบ
ภาพจำลองด้วยเทคนิคสามมิติเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์
ภาพจำลองผังของอุโมงค์ทั้งหมดเป็นลิขสิทธิ์ของโครงการย้อนรอยวัดอุโมงค์เช่นกัน
สนใจแลกลิ้งค์ติดต่อมาที่ ThailandArtWeb@yahoo.com
Free Web Hosting