พระอุโบสถวิหาร พระเจดีย์ในสยาม ลวดลายจิตรกรรม เครื่องปั้นดินเผา คน บ้าน เมือง กระดานชนวน


หลักศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง,พ่อขุนรามคำแหง

คลิกที่กระดานชนวนเพื่อแสดงความคิดเห็นของท่านได้เลยครับ

เมื่อพูดถึง ชนชาติกาว ขึ้นมา หลายคนอาจนึกถึงกาวยาง หรือกาวตราช้างอะไรเทือกนั้น

กาว ในที่นี้หมายถึงกลุ่มชนชาติที่เคยมีอยู่จริง ที่กล่าวว่าเคยมีอยู่จริง ก็เพราะในปัจจุบันนี้ไม่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อว่า กาว อีกแล้ว ด้วยความที่พวกเขาได้หายสาปสูญ และเป็นได้เพียงกลุ่มคนที่ปรากฏชื่อในตำนานเมืองเหนือบ้าง อีกปรากฏเรื่องราวบนหลักศิลาจารึกบ้าง แต่หากจะตามไปเคาะประตูบ้านจริงอย่างที่ขึ้นหัวเรื่องไว้ ก็คงไม่ประสบผลสำเร็จเป็นแน่ ด้วยมีผู้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า เมื่อกลุ่มไทยลื้อได้อพยพเข้าสู่เมืองน่านตั้งแต่เมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีก่อน และก่อร่างสร้างชุมชน พัฒนาการของกลุ่มไทยลื้อได้กลืนกินชนชาติ กาว จนกระทั่งสูญหายในที่สุด แม้ กาว จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หาข้อเท็จจริงได้ยาก แต่ด้วยหลักฐานที่มีอยู่มากมาย ล้วนบ่งชี้ให้เห็นว่าพวก กาว เคยเป็นชนชาติที่มีอยู่จริง (และจริงเสียยิ่งกว่าพวก แมนตาตอกขอกฟ้าตายืน ที่ผมเชื่อว่าเป็นชื่อในเชิงสัญลักษณ์ อันอาจหมายถึงกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง-นอกเรื่อง) ผู้เขียนจำได้ว่าเคยอ่านงานเขียนของท่านอ.ศรีศักร วัลลิโภดม ซึ่งท่านได้เขียนไว้ที่ไหนสักแห่ง ท่านกล่าวว่า เรื่องเกี่ยวกับ กาว ยังไม่เคยมีใครศึกษาอย่างถ่องแท้มาก่อน จะด้วยอุปสรรคขวากหนามมากหรือว่ายังไม่มีใครให้ความสนใจกับชนชาติกลุ่มนี้ก็แล้วแต่ ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจดี จึงได้รวบรวมข้อมูลต่างๆแล้วเดินทางขึ้นภาคเหนืออีกครั้ง โดยกำหนดตารางจากเชียงใหม่ มาเมืองแพร่ แล้วค่อยเลยมาน่านเป็นจุดสุดท้าย เพื่อค้นหาเรื่องราวของพวก กาว เอามาเขียน และต่อไปนี้….ขอเชิญท่านทำความรู้จักกับชนชาติ กาว สักยกหนึ่งก่อน

กาวคือใคร - ใครคือกาว ?

ก่อนอื่นคงต้องทำความรู้จักมักคุ้นกันเสียก่อน จะไปเที่ยวบ้านเขาทั้งทีก็ต้องรู้เสียก่อนว่าเจ้าของบ้านเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ง่าย เพราะว่าชนชาติกาวที่จะพาไปเยี่ยมสู่กันนี้ เป็นชนชาติในอดีตกาลที่ปรากฏชื่อชนชาติเพียงในหลักศิลาจารึก,พงศาวดาร และตำนาน,เรื่องเล่าทางภาคเหนือเท่านั้น ปัจจุบันไม่มีอีกแล้วครับ ชนชาติผู้มีชื่อว่า กาว พวกเขาได้สูญหายอย่างไร้ร่องรอย และสูญหายไปนานแล้ว อีกทั้งยังไม่เคยมีนักวิชาการทางมานุษยวิทยาท่านใด ได้ทำการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ กาว เป็นรูปธรรมชัดเจน ในเมื่อไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จึงไม่มีข้อมูลหรือหนังสือ หรือเว็บไซต์ใดที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง แม้แต่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่านก็ไม่มี ในเว็บไซด์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรก็ไม่มี ด้วยการตกสำรวจทางการศึกษานี้เอง ที่ทำให้เรื่องราวของชนชาติ กาว กลายเป็นเรื่องลึกลับดำมืดสำหรับผู้คนทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้สนใจศึกษา กาว ต่อไปในอนาคต จึงอยากบันทึกรายชื่อหลักศิลาจารึก อีกทั้งพงศาวดาร,ตำนานต่างๆที่มีชื่อ กาว เข้าไปเกี่ยวข้อง เท่าที่รวบรวมข้อมูลมาได้ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

หนึ่งคือ หลักศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง (จารึกเมื่อพุทธศักราช ๑๘๓๕ ? สุโขทัย) หรือที่เรียกกันเป็นชื่อเล่นว่า หลักศิลาจารึก พ่อขุนรามคำแหง ซึ่งมีวลีอมตะว่า มากาวลาว คำว่า กาว นี้เองที่ถูกแปลกันโดยทั่วไปว่า เป็นชื่อของชนชาติแถบ จังหวัดแพร่และน่าน ซึ่ง ณ ที่นี้อ้างตาม ศ.ฉ่ำ ทองคำวรรณ ผู้เขียนหนังสือหลักศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือประกอบการเรียนกระบวนวิชาภาษาไทยของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

นอกจากคำว่า กาว คำเดียวโดดๆแล้ว ท่านยังให้ความหมายของคำว่า วงศ์กาว โดยเขียนเป็นเชิงอรรถสั้นๆว่า หมายถึงไทยเผ่าหนึ่งอยู่ทางเมืองน่าน และอีกคำหนึ่งคือ ลาวกาว ที่ใช้กันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ว่าเป็นคำเรียกชาวอีสานคือกลุ่มชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เป็นด้วยเหตุผลกลใดที่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลังปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล รัฐบาลไทยค่อยๆรวบรวมเมืองต่างๆเข้าด้วยกันเป็นมณฑล แล้วให้ชื่อมณฑลแตกต่างกันไป น่าสงสัยแค่เพียงว่า บางส่วนของภาคเหนือได้ชื่อว่ามณฑลลาวเฉียง แต่บางส่วนของภาคอีสานกลับได้ชื่อว่ามณฑลลาวกาว ซึ่งอันที่จริงคำว่า ลาวกาว นี้ควรใช้กับพื้นที่แถบแพร่ น่าน เสียมากกว่า เพราะเคยมีพวก กาว อาศัยอยู่ ซึ่งต่อมาไม่อยากให้มีการแบ่งแยกกันระหว่างไทย-ลาว จึงเปลี่ยนชื่อจาก มณฑลลาวกาว เป็น มณฑลอีสาน แทน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแปลกแต่จริง

สองคือ หลักศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ หรือ หลักศิลาจารึกปู่สบถหลาน (จารึกเมื่อพุทธศักราช ๑๙๓๕ สุโขทัย) ที่เรียกอย่างนี้เป็นเพราะว่า จารึกหลักนี้เป็นคำสาปแช่งต่อผู้มีใจกบฏคิดไม่ซื่อครับ เนื้อความมีการอัญเชิญดวงวิญญาณกษัตริย์สุโขทัยหลากหลายพระองค์ อีกทั้งผีห่าตายโหงอะไรอีกมากจนเป็นที่น่าขนพองสยองเกล้า โดยมีผีบรรพบุรุษตนหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ ดำพงศ์กาว (แอบกระซิบว่าจารึกหลักนี้เอ่ยถึง เขาพูคา ด้วย -เขียนด้วย พ นะครับ คุณยามภาษาทั้งหลาย คือเป็นภาษาในจารึก ไม่ใช่ภาษาปัจจุบัน)

สามคือ หลักศิลาจารึกวัดบูรพาราม (จารึกหลังพุทธศักราช ๑๙๕๖ สุโขทัย) เนื้อความจารึกถึงกษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง ที่พยายามแผ่ขยายอำนาจของพระองค์ขึ้นไปยัง รัฐกาว หรือ กาวเทศ ซึ่งอยู่ทางทิศอุดรของเมืองสุโขทัย

สี่ ความรู้ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือของมูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่าในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ มีคำเรียกกษัตริย์เมืองน่านว่า พระยากาวน่าน ส่วนตำนานพื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิด ก็กล่าวถึงชนชาติ กาว ในการปกครองของ เจ้าขุนฟอง เจ้าเมืองวรนครคนแรก

ห้า ส่วน พงศาวดารเมืองน่าน ของ พระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช ซึ่งหลังจากพระองค์รับพระสุพรรณบัตรจากรัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชโองการให้แสนหลวงราชสมภารเรียบเรียงพงศาวดารเมืองน่านไว้ การจดจารเอกสารฉบับนี้ได้รวบรวมตำนานเมืองเหนือหลายฉบับเข้าด้วยกัน ผสมกับตำนานเมืองน่านฉบับวัดพระเกิด และองค์ความรู้ของแสนหลวงราชสมภารท่านเอง ซึ่งในบางบทบางตอนอาจเป็นความเชื่อของท้องถิ่น เนื้อเรื่องเริ่มต้นตั้งแต่ พระยาลาวจังกราช (ปู่เจ้าลาวจก,ลวจังกราช) ผู้กินเมืองเงินยางเชียงแสน ได้ส่งลูกชายสองในสามคนออกไปครอบครองเมืองใหม่ หนึ่งในนั้นคือ ลาวกอ ได้ครอบครองเมืองที่เรียกกันว่า แคว้นกาว ต่อมาได้ชื่อเป็น เจ้าลาวกอแล

พงศาวดารเมืองน่านนี้มีข้อความที่กล่าวถึง กาว อยู่สามแห่ง อีกสองแห่งที่เหลือคือ… ล่วงเข้ายุคสมัย พระยาภูคา ครองเมืองย่าง มีลูกบุญธรรมที่เกิดจากไข่ ๒ ใบซึ่งลูกใหญ่เท่ามะพร้าว คนหนึ่งชื่อเจ้าขุนนุ่น อีกคนหนึ่งชื่อเจ้าขุนฟอง ต่อมาพระยาเถรแต๋ง ฤาษีได้สร้างเมืองขึ้น ๒ เมืองคือ เมืองจันทบุรี และ เมืองวรนคร เจ้าขุนฟองคนน้องได้ครอบครองเมืองวรนคร และได้ชาวกาวเข้ามาอยู่ในบังคับ ดังความว่า

"จิงหื้อกวาด(คน) ทั้งอยู่บนที่นั้นเป็นบริเวณหั้นแล" และ "ส่วนหนกาวลาวก็ว่ามาแล้วแล"

อีกตอนหนึ่งที่กล่าวถึงชนชาติ กาว เป็นเหตุการณ์ในสมัยเจ้าขุนฟองนี้เอง ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือเล่มที่อ้างไว้ระบุคำกล่าวจาก พื้นเมืองน่านฉบับวัดพระเกิดที่สอดคล้องความกับพงศาวดารเมืองน่านว่า

"เมื่อนั้นชาวกาวไทยทั้งหลาย" (ได้พากันแปงโรงพระยาการเมือง ตามความประสงค์ของผู้ปกครอง)

หลังจากว่ากันยาวเหยียดเกี่ยวกับหลักฐานต่างๆที่มีความสัมพันธ์กับพวกกาวแล้ว อาจแปลเป็นความรู้สึกนึกคิดที่เกี่ยวกับ กาว ของผู้คนในสมัยนั้นได้ไม่มากก็น้อย

ในสมัยอยุธยาตอนต้น ดังข้อความสบถในจารึกหลักที่ ๔๕ ซึ่งพบที่สุโขทัยนั้น ทำให้เรารับรู้ว่าผู้คนในสมัยนั้นยังรู้จัก กาว ในฐานะชนชาติหนึ่ง เพราะมีการเอ่ยนาม ดำพงศ์กาว ในฐานะผีบรรพบุรุษ หากไม่มีความเชื่อ ว่า กาว เป็นชนชาติหนึ่งแล้วจะมีผีบรรพบุรุษได้อย่างไร ?

ดังนั้นในราวสมัยอยุธยาตอนต้น ชาวสุโขทัยจึงรู้จักพวกกาว และเขาพูคาเป็นอย่างดี (เขาพูคาคือดอยภูคา ซึ่งปัจจุบันคืออุทยานแห่งชาติดอยภูคา ขยายความว่าดอยภูคานี้มีความสูงเกือบ ๒๐๐๐ เมตร เป็นยอดเขาสูงที่สุดของเมืองน่าน) หากเทียบกับประวัติศาสตร์ของสุโขทัยซึ่งเป็นเจ้าของศิลาจารึกเอง ก็จะพบว่าในช่วงปีสร้างจารึกนี้ (๑๙๓๕) เป็นช่วงที่สุโขทัยได้หลุดออกจากอำนาจอยุธยาเป็นการชั่วคราว คือในช่วงตั้งแต่ปี ๑๙๓๑ -๑๙๖๒ (สุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอยุธยามาตั้งแต่ปี ๑๙๒๑) หากทว่าต่อมาได้มีการแก่งแย่งชิงดีกันภายในราชวงศ์สุโขทัยเอง ทำให้อยุธยาสามารถเข้ามามีอำนาจเหนือสุโขทัยได้อีกครั้ง

ในช่วงแห่งความเป็นอิสระนี้เองที่ ได้มีการพยายามรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆที่เคยเป็นของสุโขทัยกลับคืนมา ซึ่งอาจเป็นที่มาของจารึกหลักที่ ๔๕ นี้ก็เป็นได้ คือมีการสบถสาปแช่งต่อผู้ไม่จงรักภักดีต่อเมืองสุโขทัย

ส่วนจารึกวัดบูรพาราม(๑๙๕๖)ก็ได้ขยายความช่วงเวลาแห่งการพยายามกอบกู้แว่นแคว้นต่างๆคืนสู่การครอบครองของสุโขทัย ดังเนื้อความจารึกนั้นกล่าวถึงการแผ่อำนาจขึ้นไปสู่ รัฐกาว ของกษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่ง ซึ่งในจารึกกล่าวพระนามว่า พระองค์ท่านกลอย อาจหมายถึง พระมหาธรรมราชาที่ ๒(สุโขทัย) เพราะพระองค์ท่านเสวยราชสมบัติเพียงปี ๑๙๔๒ เท่านั้น และจารึกหลักนี้กล่าวถึงเหตุการณ์ในปี ๑๙๓๙

สำหรับผู้คนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ความรู้เกี่ยวกับพวกกาวคงจำกัดอยู่เพียงในแถบเมืองเหนือเท่านั้นดังจะเห็นได้จากการปรากฎชื่อเสียงเรียงนามของ พวกกาว ที่มีอยู่มากมายในเอกสารที่จดจารขึ้นทางเหนือ ซึ่งนานวันเข้าชื่อชนชาตินี้ก็มีบทบาทอยู่เพียงในตำนาน จะโลดแล่นบ้างก็แค่ในสมองของคนชั้นสูงที่สนใจประวัติศาสตร์บ้านเมือง

พงศาวดารเมืองน่านเป็นเอกสาร "ใหม่" ที่สุดในที่นี้ คือเป็นเอกสารที่บันทึกขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็รวบรวมเอาจากตำนานเมืองเหนือต่างๆที่เกี่ยวกับ กาว และน่าน อย่างน้อยการแพร่หลายออกไปของพงศาวดารฉบับนี้ก็เป็นการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชนชาติ กาว ให้เข้าสู่ความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสมัยนั้น แต่ก็คงจำกัดวงแคบอยู่กับคนผู้อ่านออกเขียนได้ ซึ่งโดยมากไม่เป็นชนชั้นสูงก็เป็นภิกษุสงฆ์ แต่สำหรับชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป กาว คงอยู่ห่างไกลจากการรับรู้มาตั้งแต่ยุคนั้น

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าพงศาวดารเมืองน่านจะกล่าวถึงพวก กาว แต่ก็เป็นการกล่าวถึงในฐานะคนผู้อยู่ในอดีตกาล และปรากฏชื่อเพียงในส่วนที่คัดลอกมาจากตำนานบทอื่นๆเท่านั้น

ทั้งหมดนี้กระมัง ที่ทำให้เรื่องราวของชนชาติกาวห่างไกลจากการรับรู้ของชาวบ้านสามัญ (นับแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นจุดที่สามารถศึกษาได้ชัดเจน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคปัจจุบัน) จึงไม่มีแม้แต่เรื่องราวเล่าขานปรัมปรา(myth)หรือนำมาผูกเป็นนิทานที่มีคติสอนใจ(folklore)บ้างเลย ส่วนการเคลื่อนย้ายเข้ามาของกลุ่มไทยลื้อเมื่อ ๒๐๐-๓๐๐ ปีมานี้ อาจดูดกลืนชนชาติหนึ่งให้สูญหายไปจากที่ยืนทางสังคมได้ และอาจมีความชอบธรรมทางชนชาติมากพอ ที่จะปฏิเสธการรับช่วงต่อเพื่อสืบทอดเรื่องเล่าอันสะท้อนภาพของกลุ่มคนที่อยู่มาแต่เดิม

ไปเคาะประตูบ้าน…ชนชาติกาว บ้านหลังแรกที่เราจะเดินไปเคาะประตูคือ ตำบลวรนคร อยู่ในเขตอำเภอปัว ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นเมืองวรนครเก่าที่พระยาเถรแต๋งได้สร้างให้เจ้าขุนฟอง โอรสพระยาภูคาได้ครอบครอง พระยาภูคานี้ได้ครอบครองพื้นที่แถบเมืองน่านปัจจุบันมาก่อน มีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่เมืองย่างแถบท่าวังผา ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นละแวกหนึ่งก่อนถึงอำเภอปัว พระยาภูคาครอบครองพื้นที่นี้นับแต่ปี ๑๘๒๕ ก่อนจะสร้างเมืองจันทบุรี และวรนคร ตามตำนาน

ตำบลวรนครมีชุมชนหนึ่ง ชื่อว่า บ้านร้องแง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ของกลุ่มไทยลื้อ เมื่อผู้เขียนเข้าไปที่ วัดร้องแง ได้พบชาวบ้านหลายคนกำลังทำบุญอยู่ที่วัด จึงได้พูดคุยเกี่ยวกับพวกกาว ปรากฏว่าไม่มีใครเคยได้ยินชื่อ กาว นี้มาก่อน ไม่มีเรื่องเล่าชาวบ้าน ไม่มีแม้แต่มุขปาฐะ นอกจากนี้ชาวบ้านบางคนยังย้อนถามผู้เขียนว่า เข้าใจอะไรคลาดเคลื่อนหรือเปล่า ?

อำเภอปัวนี้มีหลักฐานการค้นพบขวานหินสมัยหินใหม่ ซึ่งมีอายุแสดงถึงพัฒนาการของชุมชนตั้งแต่ ๕๐๐๐-๓๐๐๐ ปีมาแล้ว อีกทั้งบริเวณรายรอบเมืองปัวเองก็มีการค้นพบ เมืองโบราณแบบยังไม่รู้จักการหักแนวกำแพงเมืองเป็นมุมฉากอีกถึง ๔ เมืองด้วยกัน คือเมืองโบราณชุมชนบ้านปัว บ้านสวนดอก บ้านศาลา และบ้านทุ่งกลาง ซึ่งอาจเป็นเมืองแวดล้อมเมืองวรนครก็ได้

นอกจากนี้หากข้ามดอยภูคาไปก็จะเข้าถึงอำเภอบ่อเกลือ ซึ่งเป็นอำเภอบนเทือกเขาสูง มีอาณาเขตติดชายแดนลาวโดยมีเทือกเขาแดนลาวขวางกั้นอยู่ ที่นี่มีการขุดพบกลองมโหระทึกในวัฒนธรรมดองซอน ๒ ใบด้วยกัน อาจทำให้คิดถึงแกวซึ่งอาจเพี้ยนมาเป็นกาว แต่ทว่าชนชาติลาวก็มีคติและต่างใช้กลองแบบนี้กันมากมาย เจ้ากลอง ๒ ใบที่ว่านี้มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานไว้ว่า แม้ตัวมันเองจะมีอายุอานามถึงประมาณ ๓๐๐๐-๒๕๐๐ ปีมาแล้วก็ตาม แต่อาจถูกฝังไว้ ณ อำเภอบ่อเกลือนี้ไม่นานกว่า ๔๐๐-๕๐๐ ปีมานี้เอง ทั้งนี้ท่านได้สันนิษฐานจากวัตถุที่ถูกฝังรวมอยู่ด้วย ซึ่งขุดพบในคราวเดียว และฝังลึกอยู่ในดินชั้นเดียวกัน

ผู้เขียนจำได้ว่าเคยอ่านจากที่ไหนสักแห่ง มีคำกล่าวว่า กาวน่าน อีกคำหนึ่ง ตามประสาคนคิดมากก็จึงได้ว่า ทำไมต้องใช้คำว่า กาว ไปขยายคำว่าน่าน หรือเป็นเพราะว่ามี กาว กลุ่มอื่นๆที่ไม่ใช่ กาวน่าน อีก ?

เมืองน่านตั้งเป็นบ้านเมืองเมื่อปี ๑๙๑๑ ชื่อเมืองถูกนำไปใส่ไว้ในจารึกหลักที่ ๘ (จารึกเมื่อ๑๙๑๕) จากนั้นชื่อเมืองน่านคงฮิตติดลมบน จนบดเบียด ปกกาว กาวเทศ หรือ รัฐกาว ไปเสีย

นอกจากนี้มีบ้านอีกหลังที่ผู้เขียนเดินทางไปเคาะประตูไม่ถึง บ้านหลังนี้ตั้งอยู่บริเวณหลวงน้ำทา ในเขตดินแดนประเทศลาว เนื่องจากผู้เขียนได้อ่านพบข้อมูลในหนังสือเล่มหนึ่งโดยบังเอิญว่า ณ หลวงน้ำทามีดอยสูงแห่งหนึ่งมีชื่อเรียกในหมู่คนลาวว่า ดอยหลวงปูคา หรือ ดอยหลวงภูคา นี้เอง

จึงเป็นการเข้าใกล้สิ่งที่ผมเชื่อโดยขาดข้อพิสูจน์ตั้งแต่แรกเริ่มสนใจเรื่อง กาว ว่าหากชนชาตินี้จะมีความสัมพันธ์กับพวกไหนสักกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มนั้นจะต้องเป็นชนชาติลาว เรื่องนี้คิดไว้จนกระทั่งมาอ่านเจอโดยบังเอิญจากหนังสือเล่มนี้เอง

ผมเชื่อว่าพวก กาว เป็นเจ้าของวัฒนธรรมรุ่นแรกๆของอำเภอปัว หากว่ากันตามตำนานก็ต้องกล่าวว่าอยู่มาก่อนปู่เจ้าลาวจก อยู่มาก่อนพระยาภูคา อยู่มาก่อนไทยลื้อ อยู่มาก่อนไทย จีน ฮ่อ ทั้งหลาย

แล้วก็สาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย…….

ยังไม่มีนักมานุษยวิทยาในเมืองไทยคนใด หยิบจับเรื่องชนชาติกาวขึ้นมาทำการศึกษาอย่างจริงจัง ?

ในหมู่ของนักศึกษาภาควิชามานุษยวิทยาในเมืองไทย เป็นที่รู้กันว่า หากจะทำวิทยานิพนธ์ให้ผ่าน และจบอย่างง่าย ๆ อย่าหยิบจับเรื่องชนชาติกาวขึ้นมาเป็นหัวข้อในการทำวิทยานิพนธ์เป็นอันขาด ?

รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารต่วย'ตูน พิเศษ เป็นลิขสิทธิ์ของนายไมเคิ้ล เลียไฮ
รายละเอียดเกี่ยวกับภาพประกอบ
เป็นภาพที่บันทึกมาจากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง
สนใจแลกลิ้งค์ติดต่อมาที่ ThailandArtWeb@yahoo.com
Free Web Hosting