พระอุโบสถวิหาร พระเจดีย์ในสยาม ลวดลายจิตรกรรม เครื่องปั้นดินเผา คน บ้าน เมือง กระดานชนวน

คลิกที่กระดานชนวนเพื่อแสดงความคิดเห็นของท่านได้เลยครับ
 

ช้างไทยในราชสำนัก
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารต่วย'ตูน มิถุนายน ปักษ์แรก 2550

บทความนี้หรือเรียกว่าสารคดีบอกเล่าตอนนี้จะเขียนถึงช้างไทยระดับวี.ไอ.พี.ขึ้นไป คือจะโฟกัสไปที่ช้างไทยซึ่งอยู่ในราชสำนัก ทั้งราชสำนักพม่าและราชสำนักสยาม เพราะหาข้อมูลมาได้ทั้งสองฝ่าย ขอบอกไว้นิดหนึ่งว่า ข้อมูลเกี่ยวกับช้าง ผมทำไว้เป็นพะเรอเกวียน ตั้งแต่วิวัฒนาการทางสายพันธ์ของช้าง ลักษณะนิสัย การจับช้างโพนช้าง เฉพาะเรื่องช้างในการศึกสงครามนั้น เขียนตั้งแต่มหากาพย์ท้าวฮุ่งขุนเจืองกัน ฯลฯ คิดเอาไว้ว่าจะเขียนเป็นสารคดีส่งประกวดสักเล่มหนึ่งแต่ติดขี้เกียจอยู่เสมอ จนหมดเขตส่งประกวดของปีนี้ เห็นว่าถ้าไม่ทำอะไรกับมันเลยจะเสียเวลาหาข้อมูลไปเปล่าๆปลี้ๆ เลยตัดออกมาเป็นตอนหนึ่งก่อน แล้วเขียนส่งมาทางนี้ ดีกว่านอนฟังข่าวระเบิดไปวันหนึ่ง ๆ

ถ้าคิดจะเขียนเรื่องช้างในราชสำนักกันแล้ว โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นราชสำนักไหน ผมก็ขอเริ่มจากช้างที่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์เป็นช้างแรกกันก่อนเลยล่ะกัน คือช้างพระยาภู่ก่ำงาเขียวของพระนางจามเทวี ช้างนี้มีความแปลกกว่าช้างอื่นคือเป็นช้างเผือกงาเขียว ใครสังเกตหน่อยจะเห็นว่าผมไม่เรียกช้างเผือกว่า ‘ตัว’ เลย ยามภาษาทำหน้าที่ดีๆนะฮะ เพราะถ้าผมพลาดตอนไหน ท่านต้องจับผมให้ได้ด้วย ที่ไม่เรียกช้างเผือกว่าตัว เพราะเขาให้เรียกว่าช้างครับ คำว่าเชือกจะใช้กับช้างเลี้ยง เพราะมีเชือกผูกแสดงความเป็นเจ้าของ ส่วนช้างในป่าในดงก็คงจะเรียกเป็นตัวๆได้ ไม่ผิดเพี้ยนแน่ ลักษณะช้างงาเป็นสีเขียวหาพบได้ยาก แต่ไม่เหนือกว่าจะหาได้ เพราะเคยเห็นช้างที่มีสีงาเขียวคล้ำแบบนี้ อันที่จริงงาช้างดำของเมืองน่านก็มี แต่ตอนไปดู ดูได้แค่ไกลมาก ๆ เท่านั้น เพราะพิพิธภัณฑ์เขาจัดแสดงไว้อย่างนั้นเอง จะไปฝืนก็คงไม่ได้

ไม่มีใครแน่ใจว่าพระยาภู่ก่ำงาเขียวเป็นช้างศึกหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆคือพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงขี่ช้างเบกพล (เบกพลอาจจะเป็นชื่อช้างก็ได้ มีผู้สันนิษฐานไว้ในแนวทางนี้เหมือนกัน) รบกับขุนสามชนจนฝ่ายนั้นแพ้ย่อยยับ ใครอ่านจารึกหลักที่หนึ่งจะเห็นว่ามีการขายช้างในเมืองสุโขทัย แปลว่าคงค้าช้างขายช้างกันมานานแล้วล่ะ  การค้าช้างมารุ่งเรืองในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยมีการผูกขาดการค้าช้างโดยราชสำนักเอง ที่บอกว่ารุ่งเรืองจนราชสำนักต้องผูกขาดไว้เองก็เพราะว่าช้างกลายเป็นสินค้าส่งออกของสยามเลยทีเดียว ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างช้างไทยกับราชสำนักจึงมีอยู่สองสามทางด้วยกัน คือหนึ่งถ้าเป็นช้างเผือกก็ถือเป็นช้างคู่บารมีกษัตราธิราช ช้างสามัญที่ไม่ค่อยสวยค่อยหล่อก็อาจจะถูกเลี้ยงไว้โดยกรมคชบาลภายในราชสำนัก และบางส่วนก็ถูกขายเป็นสินค้าส่งออกเก็บเงินเข้าคลังหลวง ซึ่งถ้าเป็นสมัยนี้ก็คงจะมีเอ็นจีโอออกมาร้องแฮ่  พาฝรั่งเข้ามาประท้วงพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ให้คนไทยเป็นที่สนุกสนานกันไป ซึ่งอาจจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี...(ก็ได้)

ในราชสำนักอยุธยาจึงมีช้างมากมาย จะมากมายแค่ไหนขอให้ฟังจากพวกฝรั่งที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการบันทึกไว้ว่า

“ในบรรดาชาติผิวคล้ำแห่งเอเชียทั้งหลาย ราชอาณาจักรสยามเป็นราชอาณาจักรอันเกรียงไกรยิ่งใหญ่ที่สุด และราชสำนักนั้นเล่าก็วิจิตรมโหฬารหาที่เสมอเหมือนไม่ได้... พระราชวังแบ่งเป็นส่วนๆ มีตำหนักเป็นอันมาก...ด่านหน้าปิดทองตลอด มีโรงช้างยาวยืด มีช้างผูกงามวิจิตรร้อยกว่าเชือก”

ช่วงนี้ผมบ้าอ่านวรรณกรรมภาคใต้หนักหน่อย จึงขอหยิบบทตั้งนามเมืองของคณะหนังสมควร สงวนศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราชมาฝากให้อ่านกันว่า...

                                                                    “นิทานังยังมีธานีหนึ่ง

                ในโลกนี้มีนานประมาณกึ่ง                    ดุจดั่งหนึ่งชั้นดุสิตของท้าวอิศโร

                มีปราสาทงามระยับประดับเพชร             แต่ละเม็ดงามดีสีสวยโส

                อีกโรงรถคชไกรดูใหญ่โต                     ดูโอ่อ่าท่าเรือเหนือนคร

                สิ่งอนันต์สวยสะอาดวิลาศรัตน์               แจ่มจำรัสล้านสุวรรณบรรจถรณ์

                เจ้าจอมฟ้าจอมธานีมิเดือดร้อน              มีกุญชรเผือกผู้คู่บารมี”

ยกบทตั้งนามเมืองของนายหนังมาใช่ว่าเจตนายืดเรื่องให้ยาวเข้าว่า แต่เห็นว่าเข้าข่ายสะท้อนให้เห็นคติเรื่อง ‘หัตถีรัตนะ’ คือช้างเผือกคู่บารมีกษัตริย์ และจะเล่าถึงกรมช้างนครศรีสักหน่อย คิดว่าไม่เสียเวลามาก แต่เรื่องน่าสนใจ คือต้องพูดถึงชื่อโคตรคีรีเศรษฐีผู้มีอิทธิพลในแคว้นเมืองนครศรีฯสมัยโบราณนะครับ ตาเศรษฐีคนนี้ได้นำพาคน ๗๐๐ คนอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ยังเมืองคอนในสมัยพระเจ้าธรรมโศกราช ภายหลังก็ดองกับเจ้าเมือง พรรคพวกของแกจึงมีโอกาสเข้าครอบครองกรมช้างในราชสำนักนครศรี ในสมัยโบราณใครเข้าควบคุมกรมช้างก็อาจจะเปรียบเสมือนกินตำแหน่งเป็น มท.๑ เพราะเป็นผู้ควบคุมอาวุธสำคัญที่ใช้ในการศึก เปรียบเสมือนรถถังที่วันดีคืนดีก็ออกมาวิ่งเล่นไปรอบเมืองเมื่อเร็ว ๆ นี้นั่นเอง

มีคำกล่าวว่า ‘เหล่ากอหมอเฒ่า’ ที่ควบคุมกรมช้างนครศรีเป็นญาติโยมของตาโคตรคีรีฯ และมีเชื้อสายทาง ‘มอญ’ นี่เอง เป็นที่รู้กันดีว่าผู้เชี่ยวชาญในการพิสูจน์ลักษณะของช้างในประเทศไทยมีอยู่สองตระกูลด้วยกันคือสกุล ‘คชาชีวะ’กับสกุล ‘คชเสนีย์’ ซึ่งสืบทอดความรู้มาจากอดีต คือเป็นความรู้ที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ช้างตามหลักวิชาในตำราคชลักษณ์ ว่าช้างนั้นๆมีลักษณะต้องกับตำราอย่างไรบ้าง เมื่อพิสูจน์แล้วก็เขียนใบพรรณนาว่าช้างนั้นมีความสำคัญอย่างไรเพื่อถวายแด่ในหลวง และเก็บสำเนาไว้เองหนึ่งฉบับ

ตระกูล คชาชีวะ สืบสายมาจากพระเพทราชาผู้เป็นขุนนางในกรมช้างสมัยอยุธยา ก่อนจะลุกขึ้นทำการรัฐประหาร ส่วนตระกูล คชเสนีย์ มีต้นตระกูลคือชาวรามัญที่อพยพเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรี มีพระยาเจ่งเป็นหัวหน้า ภายหลังได้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยามหาโยธา คุมชาวรามัญไปอยู่ยังนครเขื่อนขันธ์ซึ่งปัจจุบันคือจังหวัดสมุทรปราการนั่นเอง

เรื่องการครอบครองช้างของคนโบราณก็น่าสนใจ ไม่ใช่ว่ามีเงินเสียอย่างแล้วจะมีกี่ตัวก็ได้นะครับ แต่ในกฎหมายตราสามดวงเขาระบุเป็นกฎมณเฑียรบาลไว้เลย ว่ายศฐาบรรดาศักดิ์เท่าใดสามารถจะครอบครองช้างม้าไพร่พลได้มากเท่าไร เช่นตำแหน่งพระเยาวราชจะสามารถครองช้างได้ตัวหนึ่ง ม้าตัวหนึ่ง กับคน ๒๐ คนเท่านั้น ถ้ามีมากเกินกว่านั้น ให้ ‘เอาออกกินเจียด แว่นฟ้า’เห็นไหมครับ ใช่ว่าจะมีช้างได้ตามอำเภอใจ

ในกรมช้างหรือกรมคชบาลของราชสำนักกรุงศรีฯก็มีกองทหารฝ่ายมอญด้วยเหมือนกันเรียกว่ากรมโขลงขวาและโขลงซ้าย ควบคุมพวกมอญและกะเหรี่ยงที่เป็นชาวป่าซึ่งมีความชำนาญในวิชาช้าง ที่เป็นระดับผู้บริหารก็จะแบ่งเป็นฝ่ายๆคือกรมพระคชบาลขวา พระคชบาลซ้าย แต่ละฝ่ายก็มีคนฝึกสอนช้าง, ควาญช้าง, หมอปะกำซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับช้าง  

ความเชื่อเกี่ยวกับช้างของทางพม่ามีนิทานเรื่องหนึ่งที่ท่านอาจารย์ ส.พลายน้อย เคยเขียนเล่าเอาไว้คือเรื่องบัลลังก์กษัตริย์พม่าที่กล่าวว่าราชสำนักพม่ามีบัลลังก์หลายแบบ เช่นบัลลังก์ราชสีห์ กล่าวว่าราชสีห์ตนหนึ่งออกจากถ้ำแก้วไปพบช้างเหาะเหิรอยู่กลางอากาศ เกิดทะเลาะวิวาทกันขึ้นเพราะช้างมาแย่งกินกลีบเมฆ (จินตนาการบรรเจิดมากเลยใช่มั้ยครับ ช้างเหาะได้ ส่วนสิงโตก็แย่งกันกินกลีบเมฆกับช้าง) ทะเลาะกันไปมาราชสีห์ก็ขึ้นเหยียบหัวช้างแล้วดูดสมองออกมาตามงวง โลกเทวบุตรเห็นเข้าจึงเอาเท้าหนีบแล้วร้องขับเป็นเพลงเต้นรำ ช้างก็เลิกทะเลาะกับราชสีห์พม่าก็เอามาทำเป็นบัลลังก์ ที่เป็นรูปช้างก็มี นอกจากนี้ก็มีรูปนกยูง บัว กวาง แม้แต่รูปสังข์ก็ยังมี

เมื่อช้างเผือกล้มซึ่งหมายถึงเสียชีวิตนั่นเอง ทางพม่าเขาเอาใส่หีบใหญ่ ยกหีบตั้งบนรถทรง จัดขบวนแห่ยิ่งใหญ่เพื่อเอาไปเผาที่นอกเมือง สร้างเมรุหลวงอลังการเหมือนเวลากษัตริย์พระราชทานเพลิงข้าราชการผู้ใหญ่ เมื่อเก็บกระดูกเข้ากู่เจดีย์ ผู้คนก็กราบไหว้บูชาถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ ส่วนของไทยจะเอาผ้าขาวห่อตัวช้างที่ล้ม เอาขึ้นเรือเพื่อแห่ไปถ่วงน้ำแถววัดปทุมคงคา หากเป็นสมัยอยุธยาก็แห่ไปทางปากคลองตะเคียน จัดพิธีเอิกเริกมาก ขบวนเรือใหญ่โตนับสิบๆลำ ร้องบรรเลงเพลงมโหรีไปตลอดเส้นทาง

ที่ต้องจัดพิธีศพช้างเผือกอย่างยิ่งใหญ่เอิกเริกนี้มีเหตุผลอันสามารถอธิบายได้ครับ คือช้างเผือกที่ถวายงานกษัตริย์เขาถือว่ามีศักดิ์มีศรีเทียมหน้าเจ้าน้ำเจ้าพระยาเหมือนคนเรานี่แหละ.

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆของช้างไว้เยอะมาก ในสาส์นสมเด็จก็มีเรื่องการจับช้างของหมอเฒ่าโบราณ แต่จะไม่นำมาเล่าในสารคดีบอกเล่าเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องไม่เข้าพวกกัน ที่อยากจะเล่าคือเรื่องสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพไปชมการชนช้างที่ประเทศอินเดีย ซึ่งสมเด็จฯท่านทรงพระนิพนธ์ไว้ในนิทานโบราณคดี เพราะเป็นการชนช้างในรั้ววัง จึงเข้าเรื่องกับช้างในราชสำนักที่รวบรวมมาเขียนในงานชิ้นนี้

สมเด็จฯท่านทรงเล่าว่าที่เมืองชัยบุระ ราชาของเมืองได้แสดงการชนช้างให้ดู ท่านก็เล่าว่าราชวังที่เมืองชัยบุระนั้นใหญ่โตมาก มีโรงม้าต้นช้างต้นมากมาย สนามที่ฝึกหัดช้างก็มีอยู่ภายในราชวัง ท่านเล่าไว้ว่าก่อนจะเดินถึงสถานที่ชนช้างของอินเดีย ต้องเดินขึ้นไปบนเชิงเทินคล้ายที่เพนียดคล้องช้างอยุธยา เมื่อมองจากบนเชิงเทินก็จะเห็นว่าเป็นที่เลี้ยงช้างทั้งนั้น ที่ตกน้ำมันก็แยกไปเลี้ยงไว้ต่างหาก เดินไปจนถึงสนามกว้างแห่งหนึ่ง ท่านเล่าว่ามีพวกกรมช้างของเมืองชัยบุระประจำอยู่ในกำแพงแก้ว (น่าจะเป็นกำแพงที่ล้อมสนามกว้างแห่งนั้น - ผู้เขียน) ครู่หนึ่งก็เห็นนายทหารอินเดียขี่ม้าเข้ามา ถือแพนเป็นไม้ประมาณยาวเท่าทวนผูกพู่ไว้ตรงปลาย เขาขี่ล่อช้างพลายตัวหนึ่งเข้ามาในสนาม เป็นช้างงาสูงสัก ๕ ศอกเศษ ไม่มีคนขี่ มีแต่ผ้าสักหลาดสีแดงคลุมหลังเท่านั้น อีกด้านก็มีทหารอีกคนขี่ม้าล่อช้างอีกตัวเข้ามาเช่นกัน ปรากฏว่าพอช้างสองตัวจ๊ะกันเข้า มันก็ทิ้งม้าเลยทีเดียว วิ่งเข้าหากันแบบฝุ่นตลบอลอวล ปะทะกันอยู่นาน ๒ นาที ช้างตัวหนึ่งก็พ่ายแพ้ ถึงกับงาหักสะบั้น

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ถึงตอนนี้ว่า ผู้อำนวยการการชนช้างเห็นว่าเกิดเหตุอย่างนั้นก็ถามสมเด็จฯว่าจะโปรดฯให้หยุดหรือยัง ท่านก็ทรงตอบว่าขอให้หยุดเถอะ แต่ให้นึกสงสัยว่าชาวอินเดียที่คิดจัดวิธีชนช้างเช่นนี้ จะมีวิธีหยุดช้างที่กำลังบ้าระห่ำได้อย่างไร วิธีการของเขาก็น่าสนใจทีเดียวล่ะครับ...

ตรงนี้ขอคัดลอกสำนวนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาเลยล่ะกัน...

“เห็นเขาโบกมือ ให้สัญญาณ พวกกรมช้างที่แอบอยู่ในกำแพงแก้วก็จุดดอกไม้ไฟอย่างไฟพะเนียง มีด้ามถือวิ่งเข้าไปที่ช้าง ช้างกลัวไฟก็วิ่งหนีแยกกันไป พอช้างสองตัวห่างไปแล้ว คนก็ขี่ม้าเข้าไปเอาแพนล่อพาช้างกลับไปโรงทั้งสองตัว ได้ดูชนกันครู่เดียวผู้อำนวยการเขาบอกให้ทราบเมื่อภายหลังว่า ธรรมดาช้างชนนั้นถ้าตัวไหนชนแพ้ครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่สู้ช้างอีกต่อไป เห็นช้างตัวงาหักเสียทีกลัวจะเลยเสียช้าง จึงได้ขอให้รีบเลิกเสีย ฉันได้ดูชนช้างที่เมืองชัยบุระ แม้ดูเพียงครู่เดียวก็สนุกจับใจ ด้วยเป็นการอย่างหนึ่งในตำราคชศาสตร์แต่ดึกดำบรรพ์ ซึ่งชาวอินเดียเขายังรักษามา เป็นแต่มาแปลงเป็นการกีฬาในสมัยเมื่อเลิกใช้ช้างรบพุงแล้ว ไทยเราก็มีวิชาคชศาสตร์คล้ายกับของชาวอินเดีย...”

เล่าเรื่องนิทานโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นของแถมท้าย เพื่อไม่ให้เรื่องช้างในราชสำนักอ่านแล้วห้วนหรือสั้นจนเกินไปนั่นเอง.

 


ตำนานผู้หญิงขี่ช้างออกศึกมีปรากฏโดยทั่วไป ทั้งในตำนาน นิทาน เรื่องเล่าปรัมปรา (Myth) แม้แต่ในพงศาวดาร มหากาพย์ท้าวฮุ่ง-ขุนเจืองก็ยังมี หากมีโอกาส จะนำบทความชิ้นดังกล่าวมานำเสนอรับใช้ให้อ่านกัน
รายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูล
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารต่วย'ตูน พ็อกเก็ตบุ๊ก เป็นลิขสิทธิ์ของนายไมเคิ้ล เลียไฮ
รายละเอียดเกี่ยวกับภาพประกอบ
 
สนใจแลกลิ้งค์ติดต่อมาที่ ThailandArtWeb@yahoo.com
Free Web Hosting